ในปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา โดย ๑ ใน ๑๐ ของประชากรเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ อีก ๖ ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุจะมีถึง ๑ ใน ๕ และเป็น“สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) และในอีก ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๗๘) โดยประมาณการว่า จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ ๓๐ ของจำนวนประชากรทั้งหมด งานวิจัยหลายๆ ชิ้นยังแสดงให้เห็นถึง การขาดหลักประกันทางรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ การขาดการส่งเสริมด้านการออมอย่างจริงจังของรัฐบาล ที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงต้องพึ่งพารายได้จากบุตรเป็นหลัก แม้จะมีเบี้ยยังชีพที่จัดสรร ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ก็ยังก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นแหล่งหลักในการดำรงชีวิตในอนาคตการพึ่งพา รายได้จากบุตรจะยิ่งยากมากขึ้นเนื่องจากการที่ผู้สูงอายุรุ่นต่อ ๆ ไปมีบุตรน้อยลงมาก ขณะเดียวกันภาวะ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจุกตัวของการพัฒนา จะทำให้คนวัยทำงานต้องออกนอกพื้นที่ ไปทำงานในเมืองหรือต่างถิ่น ทิ้งให้ผู้สูงอายุต้องอยู่กันตามลำพัง บ้างก็ต้องแบกภาระในการเลี้ยงดูหลานที่ยังเล็ก ซึ่งบุตรในวัยแรงงานทิ้งไว้ให้ สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นท้าทายต่อทั้งคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งอยู่ในวัยที่ต้องการการดูแลและพัฒนาศักยภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม สำหรับคนในวัยทำงานนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นแรงงานในระบบที่มีหลักประกันรายได้ในยามสูงอายุจากระบบประกันสังคม-แรงงานส่วนใหญ่อีกกว่า ๒๕ ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีหลักประกันใด ๆ ทั้งสิ้นในยามสูงอายุไทย .(การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย.2558:2).ซึ่งโรงเรียนสร้างสุข (ผู้สูงวัย) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านติ้ว ร่วมกับพัฒนาสังคมและคงความมั่งคงของมนุษย์ หน่วยที่ ๓๘ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดตั้งโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพื่อให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการปฏิบัติงานของ โรงเรียนสร้างสุข (ผู้สูงวัย) เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และสาขาวิชาพละศึกษา และสาขาวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเห็นควรว่าผู้สูงอายุควรได้รับการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้วย กีฬา นันทนาการและการส่งเสริมอาชีพ และสร้างเทคนิคการจำหน่ายในชุมชนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีจิตแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง อันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย อันเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอีกทั้งยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวและชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าให้กับตนเองได้